คริสตจักรภาคที่13
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  

 

คริสตจักรภาคที่ 13

 

ความหมายตราสัญลักษณ์คริสตจักรภาคที่ 13 

แคน        แคนเป็นสัญลักษณ์ของคนอิสานด้านดนตรีความม่วนชื่น

หม้อ        หม้อบ้านเชียงเป็นสัญลักษณ์ของมรดกโลกที่มีมานานกว่า 5,000 ปี

กางเขน    กางเขนสัญลักษณ์ของความรอดพ้นบาป พระกิตติคุณมาถึงชาวอิสานมาเป็นเวลายาวนานแล้ว

วงกลม     วงกลมรอบคริสตจักรภาคที่ 13 อยู่ภายใต้การปกครองของสภาคริสตจักรในประเทศไทย

ประวัติศาสตร์คริสตจักรภาคที่ 13 และสภาพปัจจุบัน

คริสเตียนในภาคอิสาน เกิดขึ้นจากการเข้ามาประกาศเผยแพร่พระกิตติคุณ โดยมิชชันนารี คณะซี.เอ็ม.เอ. ซึ่งมีชื่อเต็มว่า คณะคริสเตียน แอนด์ มิชชันนารี อะลายแอนซ์ ( The Christian and Missionary Alliance ( C&MA) คณะ ซี.เอ็ม.เอ. เริ่มเมื่อปี ค.ศ.1928 โดย คณะ ซี.เอ็ม.เอ. ได้ออกประกาศพระกิตติคุณทั่วชนบทในเขตภาคอิสานและได้ตั้งคริสตจักรขึ้นหลายแห่ง ต่อมาภายหลังได้มุ่งเน้นการประกาศพระกิตติคุณเพื่อจัดตั้งคริสตจักรขึ้นในตัวเมือง และได้ตั้งคริสตจักรสามัคคีไทย อุดรธานี ขึ้นในปี ค.ศ.1951 โดยมิชชันนารีครอบครัว  ศาสนาจารย์จอห์น  เพอร์กิ้น   และในปีเดียวกันนี้คริสตจักรต่าง ๆ ในภาคอิสานได้รวมตัวกันตั้งเป็นองค์การเรียกว่า สภาคริสตจักรพระกิตติคุณแห่งประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเมือง  จังหวัดขอนแก่น

ในปี ค.ศ.1965 คริสตจักรสามัคคีไทย อุดรธานี ได้มีการติดต่อเสนอขอความช่วยเหลือจากสภาคริสตจักรในประเทศไทย ในการกระทำพันธกิจด้านต่าง ๆ สภาคริสตจักรในประเทศไทย ได้มีการตอบสนองข้อเรียกร้องของคริสตจักรสามัคคีไทย อุดรธานี โดยมีมติให้อาจารย์ศรัณย์ ชัยรัตน์ เป็นผู้ติดต่อกับคริสตจักรสามัคคีไทย และท่านได้เดินทางไปเยี่ยมคริสตจักรสามัคคีไทยอุดรธานี เพื่อร่วมประชุมปรึกษาหารือ และให้คำแนะนำคริสตจักรสามัคคีไทยถึงขั้นตอนในการเป็นส่วนหนึ่งของสภาคริสตจักรในประเทศไทย

ในปี  ค.ศ. 1968  คริสตจักรสามัคคีไทยอุดรธานี  ได้ซื้อที่ดินและสร้างอาคารโบสถ์บริเวณใกล้กับวัดป่าโนนนิเวศน์  ซึ่งเป็นที่ตั้งอาคารโบสถ์หลังปัจจุบัน  และได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นคริสตจักรสามัคคีธรรมอุดรธานี

ปี ค.ศ. 1969  คริสตจักรสามัคคีธรรม อุดรธานี  ได้เป็นแกนนำจัดตั้งกลุ่มเพื่อพัฒนาคริสตจักร โดยมีความมุ่งหมายเพื่อฟื้นฟูจิตวิญญาณของคริสตจักรต่างๆ ที่อยู่ตามชนบท เพื่อหาทางรวมกลุ่มกันและร่วมไม้ร่วมมือซึ่งกันและกัน ในการพัฒนาคริสตจักรของพระเจ้าให้เจริญขึ้น มีคริสตจักรและหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมกำจำนวน  29 แห่ง  ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง โดย ใช้ชื่อว่าคณะกรรมการเผยแพร่พระกิตติคุณ

ในปี ค.ศ. 1970   คณะกรรมการเผยแพร่พระกิตติคุณ ได้มีการจัดประชุมใหญ่ขึ้นเมื่อวันที่ 12 - 16 มีนาคม ค.ศ. 1970 มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 225 คน จากคริสตจักร หน่วยงาน ต่าง ๆ รวม 25 แห่ง คือ 1) คริสตจักร สามัคคีธรรม อุดรธานี  2) คริสตจักรใหม่สนามม้า  3) คริสตจักรบ้านปะโค  4) คริสตจักรบ้านดู่   5) คริสตจักรกุดยาง    6) คริสตจักรกุดนาค้อ    7) คริสตจักรบะยาว    8) คริสตจักรหนองบั่ว    9) คริสตจักรท่าลี่  10) หน่วยบ้านดุง  11)หน่วยบ้านหม้อ 12) หน่วยบ้านวังโตน  13)หน่วยคำล่อง  14) คริสตจักรสามัคคีธรรม ภูเขียว  15) คริสตจักรแก้งคร้อ  16) นามล  17) คริสตจักรนาจาน  18) คริสตจักรหนองพอก  19) คริสตจักรหนองนาหาร  20)คริสตจักรบ้านยางชุม  21) หน่วยในเมืองสกลนคร  22)คริสตจักรโพนทอง  23) คริสตจักรอาญา   24) คริสตจักรโคราช   25) คริสตจักรดงบัง

ในการประชุมฟื้นฟู และการประชุมใหญ่ครั้งนี้ ได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ เรียกว่า คณะกรรมการภาค อุดรธานี ประกอบด้วย

   1. ผ.ป.สมกิจ     ไทยวัชรามาศ        ประธาน

   2. ผ.ป.ทองนาค   นาคดิลก             รองประธาน

   3. ศ.บ.ไมตรี      สิงห์คำป้อง           เลขานุการ

   4. อจ.นิตยา       ตั้งแสงอาทิตย์        เหรัญญิก

   5. อจ.ซุย          ป้อมแสนพล         ผู้ประกาศทั่วไป

   6. อจ.สม          สมบัติ                ผู้ประกาศทั่วไป

   7. ศบ.สมัย        สิงห์คำป้อง           คริสตจักรทวีพรปะโค

   8. ศบ.ทองปาน    พรหมเมตตา         คริสตจักรสามัคคีธรรม ภูเขียว

   9. อจ.สังเวียน     โง่นคำ               พัฒนากรแผนกชูชีพชนบท

ุดประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ เพื่อรับทราบความต้องการของคริสตจักรต่าง ๆ ความเป็นอยู่ของผู้นำในคริสตจักร ตลอดจนต้องการสรุปผลแน่นอนเกี่ยวกับความต้องการเข้าไปร่วมกับสภาคริสตจักรในประเทศไทย ผลจากการประชุมครั้งนี้ได้มีมติของที่ประชุม 21 ข้อ ผู้เขียนใคร่ขอนำมากล่าวถึงเป็นบางข้อคือ 

  1)ให้คริสตจักรและหน่วยต่างๆ ที่สังกัดอยู่กับภาคอุดรธานี เข้าร่วมในการประชุมกลุ่ม หรือการประชุมฟื้นฟูใจที่คริสตจักรทางสภาพระกิตติคุณฯ ได้จัดขึ้นดังที่เคยปฏิบัติมาได้

  2)เมื่อคริสตจักรที่สังกัดอยู่กับภาคอุดรธานี ถ้ามีการประชุมอบรมหรือฟื้นใจ ให้เชิญคริสตจักรที่ไม่ได้สังกัดอยู่กับภาคอุดรธานีได้ ถ้าเห็นว่าความเชื่อเหมือนกัน ยกเว้น เพนเทคอส พยานพระเยโฮวาห์ และ อื่น ๆ

  3)ให้คริสตจักรและหน่วยงานต่างๆรายงานมายังกรรมการภาคในวันที่ 30 ของทุกเดือน 

  4)ให้ผู้นำของคริสตจักรและหน่วยต่างๆได้สำรวจสมาชิกแล้วส่งมายังคณะกรรมการภาคเพื่อจะทราบจำนวนแน่นอน

  5)ให้ทุกคริสตจักรได้ส่งเสริมลูกหลานไปเรียนพระคัมภีร์ เพื่อมาช่วยงานคริสตจักร ถ้าขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้ส่งรายละเอียดมายังคณะกรรมการเพื่อจะได้รับพิจารณาช่วยเหลือ

  6)ให้แต่งตั้งตัวแทนไปสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการเข้าร่วมกับสภาคริสตจักรในประเทศไทย แล้วนำมาแถลงต่อคริสตจักรเพื่อพิจารณาต่อไป

 ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1970 คณะกรรมการภาคอุดรธานี ได้เสนอเรื่องขอเป็นสมาชิกของสภาคริสตจักรในประเทศไทย   ซึ่งมี  ศจ.จรูญ  วิชัยดิษฐ์   เป็นประธานสภาคริสตจักรในประเทศไทย และสภาคริสตจักรในประเทศไทย ได้ตอบสนองข้อเสนอโดยมอบให้ขึ้นสังกัดในคริสตจักรที่ 6 กรุงเทพ -พิษณุโลก

คณะธรรมกิจคริสตจักรภาคที่ 6 ได้มีมติรับ คริสตจักรสามัคคีธรรม อุดรธานี เข้าอยู่ในสังกัดคริสตจักร ภาคที่ 6 เป็นคริสตจักรที่ 10 ในวันที่ 23 มกราคม ค.ศ.1971 และมีพิธีรับมอบในวันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ.1971 โดยมีอาจารย์โกศล  วัฒกีเจริญ ประธานภาคที่ 6 เป็นผู้รับมอบ

ดังนั้น คริสตสามัคคีธรรมอุดรธานี จึงอยู่ในฐานะคริสตจักรแม่ทำหน้าที่ดูแลเอาใจใส่คริสตจักรและหมวดคริสเตียนต่าง ๆ โดยมี ผป.สมกิจ  ไทยวัชรามาศ เป็นประธานหมวดคริสเตียนอุดรธานี

ปี ค.ศ.1974  สภาคริสตจักรในประเทศไทย ได้พิจารณารับข้อเสนอของคริสตจักรภาคที่ 6 ที่เสนอให้ตั้งหมวดคริสเตียนอุดรธานี เป็นคริสตจักรภาคที่ 13 ในการประชุมสมัชชาสภาคริสตจักรในประเทศไทย สมัยสามัญครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 1- 6 ธันวาคม ค.ศ.1974   ณ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และได้มีการประกอบพิธีแต่ตั้งหมวดคริสเตียนอุดรธานี  เป็นคริสตจักรภาคที่ 13 ขึ้นในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ.1974   โดยมีศาสนาจารย์สมัย   สิงห์คำป้อง          เป็นประธานคริสตจักรภาคที่ 13  คนแรก พร้อมกันนี้ได้ มีการสถาปนาศาสนจารย์ประจำภาค 4 ท่าน คือ

  1) ศาสนาจารย์สมัย        สิงห์คำป้อง

  2) ศาสนาจารย์ทองปาน    พรหมเมตา

  3) ศาสนาจารย์ไมตรี       สิงห์คำป้อง

  4) ศาสนาจารย์นิตยา       ตั้งแสงอาทิตย์

และในวันเดียวกันนั้น คริสตจักรภาคที่ 13 ก็ได้มีพิธีเปิดศูนย์ศึกษาคริสเตียนบริการภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่หมู่บ้านท่าตูม  จังหวัดอุดรธานี ในพิธีดังกล่าวนี้มีเจ้าหน้าที่สภาคริสตจักรในประเทศไทยทั้งชุดเก่าและชุดใหม่ ให้เกียรติไปร่วมพิธี คือ

  1) ศจ.วิเชียร   วัฒกีเจริญ   อดีตเลขาธิการสภาฯ

  2) ศจ.นีระ     กำแหงส่อง  อดีตรองประธานสภาฯ

  3) ศจ.ทองคำ  พันธุ์พงศ์    ประธานสภาคริสตจักรฯ

  4) ดร.โกศล   ศรีสังข์       เลขาธิการสภาคริสตจักรฯ

  5) ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และผู้แทนจากคริสตจักรภาคต่าง ๆ

นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1975 เมื่อหมวดคริสเตียนอุดรธานีได้ตั้งเป็นคริสตจักรภาคที่ 13 นั้นมีคริสตจักรจำนวน 11 แห่ง หมวดคริสเตียน 14 หมวด มีสมาชิกสมบูรณ์ 376 คน มีคริสตจักรหลายแห่งที่ขอถอนตัวกลับไปอยู่กับสภาคริสตจักรพระกิตติคุณแห่งประเทศไทย (ขอนแก่น) และมีคริสตจักรหลายแห่งล้มหายไปเนื่องจากไม่มีสมาชิกสืบทอดมรดกแห่งความเชื่อ มีคริสตจักรที่เจริญเติบโตสามารถตั้งคริสตจักรลูกหลายแห่งและในขณะเดียวกันก็มีสมาชิกบางส่วนได้แยกตัวออกไปตั้งเป็นองค์กร หรือคริสตจักรลูกหลายแห่งและในขณะเดียวกันก็มีสมาชิกบางส่วนได้แยกตัวออกไปตั้งเป็นองค์กรหรือคริสตจักรอื่นๆ เช่น

ปี ค.ศ.1977 มีการแยกตัวออกไปโดย ศจ.จิม  ตั๊สกั๊ฟสัน เพื่อก่อตั้งศูนย์กลางการพัฒนาและเพิ่มพูนคริสตจักร ปัจจุบันได้ขึ้นสังกัดในสหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย

ปี ค.ศ.1980 มีการแยกตัวออกไปโดย ผป.อารีย์  สว่างอารมณ์ เพื่อบุกเบิกก่อตั้งคริสตจักรร่วมกับกลุ่มประกาศความเชื่อ ความหวัง ความรัก โดยได้รับการสนับสนุนจาก มร.กี้  อจ.แต้ และ มร.หลิว ต่อมาได้ตั้งเป็นคริสตจักรคริสเตียนสัมพันธ์อุดรธานี อยู่ในสังกัดคณะคริสเตียนสัมพันธ์แห่งประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน

ปี ค.ศ.1983 มีการแยกตัวออกไปโดย อจ.สุขุม  ศรีสังข์ เพื่อก่อตั้งคริสตจักรคณะอัครทูต ในการแยกตัวออกไปในครั้งนี้มีปัญหาส่งผลกระทบต่อคริสตจักรภาคที่ 13 มากพอสมควรเพราะ มีการชักชวนผู้นำและสมาชิกคริสตจักรหลายแห่งให้แยกตัวออกไปด้วย เช่น ที่คริสตจักรดำรงพัฒนาบะยาว ได้แยกออกไปบางส่วน และที่หมวดคริสเตียนบ้านนาเลา อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคามได้แยกออกไปทั้งหมด จนกระทั่งในปี ค.ศ.2003 หมวดคริสเตียนบ้านนาเลาจึงได้ขอกลับเข้ามาขึ้นสังกัดในคริสตจักรภาคที่ 13 อีกครั้งหนึ่ง

ปี ค.ศ. 1989 มีการแยกตัวออกไปโดย ผป.สมกิจ  ไทยวัชรามาศ และอาจารย์มุข  เมรุ เพื่อตั้งคริสตจักรร่วมกับคริสตจักรความหวังกรุงเทพฯ และภายหลังจากการแยกตัวออกไป ได้ก่อให้เกิดคริสตจักรใหม่ 2 แห่ง คือ แห่งแรกเป็นคริสตจักรความหวังอุดรธานี อยู่ในสังกัดคริสตจักรความหวังกรุงเทพฯ และแห่งที่สองคือ คริสตจักรสัจธรรมอุดรธานี ระยะแรกสังกัดอยู่ในคริสตจักรภาคที่ 6 ปัจจุบันได้ย้ายไปขึ้นสังกัดสหกิจคริสตจักรแบ็บติสต์แห่งประเทศไทย

ปี ค.ศ. 2003 มีการแยกตัวออกไป 3 กลุ่ม คือ 

  1. ศจ.สำราญ   หมอกชัย  ได้แยกไปเพื่อเปิดจุดประกาศที่จังหวัดหนองคาย โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากคริสตจักรพาร์คซิตี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันได้ตั้งเป็นคริสตจักรเยนเนซาเรธ สังกัดคริสตจักรภาคที่ 7

  2. ผป.สุรินทร์ พัฒนศิระกิจ ได้แยกออกจากคริสตจักรศรีวิไลสามัคคีไปร่วมกับกลุ่มประกาศข่าวประเสริฐ สัทธิออคซูปาร์ค ขณะเดียวกันได้สร้างความปั่นป่วนต่อคริสตจักรอย่างมาก เนื่องจากได้มีการชักชวนสมาชิกหลายคนให้เข้าร่วมลัทธิ

  3. หมวดคริสเตียนพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ได้สลายตนเองเพื่อเข้าร่วมกับคริสตจักรเมธอดิสท์ สาเหตุประการหนึ่งเพราะไม่ต้องการรับผิดชอบหนี้สินกองทุนอาชีพหมุนเวียน 

ปี ค.ศ. 2006  มีคริสตจักร  2  แห่ง  ขอลาออกไปเพื่อตั้งเป็นคริสตจักรอิสระ  2  แห่ง   คือ

1.  คริสตจักรมานาพร  จ.เลย     และ  2. คริสตจักรเอราวัณ   จ.เลย  

ข้อพระัคัมภีร์

โรม 8:28    “ เรารู้ว่าพระเจ้าทรงช่วยคนที่รักพระองค์ให้เกิดผลอันดีในทุกสิ่ง  

คือคนทั้งปวงที่พระองค์ได้ทรงเรียกตามพระประสงค์   

นิมิต

“ ภายในปี ค.ศ.2010  คริสตจักรสังกัดภาคที่ 13  มีความเข้มแข็งสามารถทำพันธกิจได้ด้วยตนเอง   มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น  50%  มีความเป็นเอกภาพสมาชิกมีความกระตือรือร้นในการประกาศและอุทิศตนในการรับใช้พระเจ้า  มีสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้เชื่อและสังคม ” 

   ความมุ่งหวังคริสตจักรภาคที่ 13

                6.1  ส่งเสริมให้คริสตจักรมีการเพิ่มพูน สมาชิก โดยการประกาศพระกิตติคุณและติดตามผู้หลงหาย

              6.2  ส่งเสริมละสนับสนุนให้คริสตจักรท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง สามารถทำพันธกิจได้ด้วยตัวเอง

                6.3  ส่งเสริมคริสตท้องถิ่นให้กระตือรือร้นในการศึกษา พระวจนะของพระเจ้า

                6.4  ส่งเสริมให้ทุกคริสตจักรมีศิษยาภิบาล

                6.5  พัฒนาผู้นำให้มีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง

                6.6  ส่งเสริมให้อนุชนมีการอุทิศถวายตัวในการรับใช้พระเจ้า

                6.7  ส่งเสริมให้มีการอบรมฝึกอาชีพ ให้แก่สมาชิกในคริสตจักรท้องถิ่น

                6.8  พัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกคริสตจักรท้องถิ่นให้ดีขึ้น

                6.9  ส่งเสริมให้คริสตจักรท้องถิ่นสร้างความสัมพันธ์กับคริสตจักรอื่นและชุมชน

                6.10  เสริมสร้างความเป็นเอกภาพให้เกิดขึ้นภายในคริสตจักรภาค

  พันธกิจ

                7.1  มุ่งเน้นด้านการประกาศและการอภิบาล

                7.2  สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรและทรัพย์สิน

                7.3  เสริมสร้างพันธกิจต่อชุมชน

                7.4  ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ

คำขวัญ

   “สมาชิกสามัคคี   คริสตจักรมีเอกภาพ”

ความคาดหวัง

                 9.1  มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น  จำนวน  50 %

                9.2  มีจำนวนคริสตจักรเพิ่มขึ้น

                9.3  มีศิษยาภิบาลเพิ่มขึ้น

                9.4  มีศิษยาภิบาลฝ่ายอนุชน

                9.5  มีศาสนาจารย์เพิ่มขึ้น

                9.6  มีเครือข่ายจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากคริสตจักรต่างๆ

                9.7  มีการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการและการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพ


Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 4,257 Today: 5 PageView/Month: 8

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...